

พุทธทาสภิกขุ หรือ พระธรรมโกศาจารย์ จากก้าวแรกสู่เส้นทางธรรม สู่การเป็น พุทธทาส ผู้อุทิศตัวรับใช้พุทธศาสนา
หากจะเอ่ยถึงนามของ ท่านพุทธทาสภิกขุ เชื่อว่าคงไม่มีพุทธศาสนิกชนคนใดในประเทศไทยที่ไม่ทราบนามของท่าน ผู้อุทิศตนให้กับศาสนาจนขนานนามตัวท่านเป็น “พุทธทาส” นำธรรมะมาสู่ชีวิตพร้อมร่วมเผยแผ่ธรรมะออกไปสู่ประชาชนอย่างสร้างสรรค์และเข้าใจง่าย ตลอดจนเรียงร้อยภาษาธรรมออกมาในรูปแบบร้อยกรองอย่างไพเราะ อีกทั้งยังเป็นผู้จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม และสวนโมกข์นานาชาติ ในคราวนี้เราจึงนำประวัติ ท่านพุทธทาสภิกขุ มาร่วมเผยแพร่ให้ได้ติดตามกัน
ประวัติ พุทธทาสภิกขุ
พระธรรมโกศาจารย์ หรือที่รู้จักกันในนาม ท่านพุทธทาสภิกขุ มีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม 2449 ในสกุลของพ่อค้า บิดาเป็นผู้มีเชื้อสายจีน ชื่อ เซี้ยง พานิช มารดาชื่อ เคลื่อน พานิช มีน้องชายและหญิง 2 คน ขณะที่ตัวของท่านได้รับมรดกความสามารถด้านกวีและด้านช่างไม้จากบิดา ดังจะเห็นได้จากงานไม้บางส่วนที่สวนโมกขพลาราม ซึ่งคณะสงฆ์สร้างขึ้นเอง และท่านพุทธทาสภิกขุยังมีผลงานธรรมะส่วนหนึ่งที่ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น
พุทธทาสภิกขุ กับเส้นทางสายธรรม

ชีวิตในช่วงเด็ก เงื่อม พานิช ร่ำเรียนจนถึงชั้น ม.3 แล้วต้องออกมาทำงานค้าขายแทนบิดาที่เสียชีวิต จากนั้นได้เริ่มบวชเรียนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2469 ขณะอายุได้ 20 ปี ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น ได้รับฉายาว่า “อินทปญฺโญ” ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมตั้งใจจะบวชตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่ด้วยความสนใจและซาบซึ้งในความรู้สึกเป็นสุข สนุกในการศึกษาและเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก

ในต่อมาจึงได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร สอบได้นักธรรมเอกแล้วเรียนภาษาบาลีจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน พระเงื่อม ได้เขียนบทความชิ้นแรกชื่อ “ประโยชน์แห่งทาน” เพื่อพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุปัชฌาย์
มีเนื้อความตอบคำถามของคนสมัยใหม่ที่เริ่มสงสัยคุณค่าของการทำทาน ก่อนจะเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “พระพุทธศาสนาขั้นบุถุชน” อธิบายคุณค่าของพระพุทธศาสนาด้วยภาษาสมัยปัจจุบัน และเริ่มแสดงความคิดเห็นว่า มรรค ผล นิพพาน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงในยุคสมัยนี้ ซึ่งบทความนี้พิมพ์เป็นหนังสือแจก งานฉลองโรงเรียนนักธรรมวัดพระบรมธาตุไชยา
ในระหว่างที่ร่ำเรียนเปรียญธรรม 4 อยู่นั้น ท่านได้ศึกษาเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิด ๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับไชยา เพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น
พุทธทาสภิกขุ กับการจัดตั้งสวนโมกขพลาราม
เวลาต่อมา ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ร่วมกับน้องชายคือ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น นายธรรมทาส พานิช และคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม “สวนโมกขพลาราม” ขึ้นเมื่อปี 2475 จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น และได้ประกาศใช้ชื่อนาม “พุทธทาส” เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน

พุทธทาสภิกขุ ผลงานเด่น
สำหรับผลงานเด่นของท่านพุทธทาสภิกขุ คืองานหนังสือธรรมะต่าง ๆ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ รวมถึงผลงานอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้
- การจัดตั้ง สถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม และสวนโมกข์นานาชาติ
- ร่วมกับคณะธรรมทาน ออกหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ซึ่งนับเป็นหนังสือพิมพ์ทางพระพุทธศาสนา ฉบับแรกของไทย โดยเริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2576
- การพิมพ์หนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมปาฐกถาธรรม ที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่าง ๆ และงานหนังสือเล่มอื่น ๆ ของท่าน
- การปาฐกถาธรรมของท่าน กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตีความของพุทธศาสนา ทำให้ผู้คนกลับมาสนใจธรรมะกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
- งานแปลจากภาษาอังกฤษ 2 เล่ม คือสูตรของเว่ยหล่าง และ คำสอนของฮวงโป อันเป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนา นิกายเซน
ชีวิตบั้นปลาย พุทธทาสภิกขุ
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่านรับมรดกความเป็น “พุทธทาส” เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา
สมณศักดิ์ที่ท่านได้รับ
ปี 2489 พระครูอินทปัญญาจารย์
ปี 2493 พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระอริยนันทมุนี
ปี 2500 พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชชัยกวี
ปี 2514 พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวิสุทธิเมธี
ปี 2520 พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมโกศาจารย์
ปริญญาทางโลก
พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปี 2522
อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2528
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา วิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2528
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2529
อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2530
การศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปี 2532
ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2536

ร่วมแชร์ เป็นธรรมทานและสะพานบุญ