อภัยทานคือทานอันยิ่งใหญ่

Home >> อภัยทานคือทานอันยิ่งใหญ่

• การอภัยเป็นอะไรมากกว่าการแกล้งลืมครับ
มันคือการยกเอาโทษออกจากใจเราเอง
พอใจพ้นโทษจริง ก็พบความสุขแท้นะ

• การให้อภัยคือการไม่หวงอารมณ์โกรธไว้
ผู้ที่ฝึกให้อภัยไว้ก่อน
จึงกลายเป็นนักเจริญสติที่เห็นความไม่เที่ยงของความโกรธโดยง่าย

• เริ่มฝึกเมตตาตอนโกรธ
เห็นความโกรธเหมือนเชื้อโรคทางวิญญาณ
เป็นทุกข์ ไม่ควรอมไว้ด้วยใจ
พอคายออกได้ก็เป็นสุข ให้แผ่ความสุขนั้นนานๆ

• การให้อภัยของเราไม่ใช่ยางลบ
ที่ไปลบเจตนาร้ายของเขา
เมื่อเจตนาไม่ถูกลบ
ผลของเจตนาก็ต้องเกิด
เพียงแต่ถ้าเขาสำนึกผิดมันก็เบาบางลงได้

• การอภัยไม่ต้องเสียอะไรเพิ่ม
การจองเวรสิต้องเสียยิ่งกว่าเดิมไม่รู้เท่าไหร่
ทั้งเวลา ทั้งกำลังกายกำลังใจ
บุญบาปทำหน้าที่อยู่แล้ว
เราปล่อยเขาไปตามทางที่เขาสร้างเอง
เดินเอง และเสวยผลเองน่ะดีที่สุด
ถ้าผูกใจเจ็บก็เท่ากับ
พลอยกระโจนไปร่วมรับบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง
บนเส้นทางของเขาด้วย

• การผูกกรรมมีความพิสดารลึกซึ้ง
เราคาดไม่ถึงหรอก
เรานึกว่าแค่ผูกใจเจ็บก็เป็นเรื่องส่วนตัวในใจ
แต่ความจริงมันเกิด กระแสเวรผูกพันระหว่างวิญญาณขึ้นมา
แม้เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตาเขาก็ตาม
เขาเป็นฝ่ายกระทำต่อเราวันนี้
อนาคตจะต้องมีเรื่องมีราวให้เรามีอำนาจเหนือกว่า
และกรรมเก่าจะยั่วยุให้เราคิดเอาคืนบ้าง
ซึ่งก็แปลว่าเราจะมีโอกาสทำบาป
และรับผลจากบาปนั้นคืนในกาลต่อไป

• การอภัยในเรื่องน่าเจ็บปวดที่สุด ทำได้ยากที่สุด
จึงแทบจะเป็นการทำแต้มสูงสุดในเกมกรรม
และกล่าวได้ว่าเป็นการใช้หนี้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ถ้าทำไม่ได้ก็น่าเห็นใจ
แต่หากทำได้ ก็ไม่มีบุญกุศลชนิดไหนๆอีกแล้วที่คุณจะทำไม่ได้

• ก่อนอื่นต้องมองว่าตอนใครทำให้คุณเจ็บช้ำน้ำใจมากๆนั้น
คือรูปแบบหนึ่งของการโดนทวงหนี้
เมื่อมองอย่างนี้คุณจะเต็มใจให้อภัย
และทราบชัดจากความเบาหัวอก
ว่าหนี้เก่าถูกชำระแล้ว
อาจต้องผ่อนส่งหลายครั้ง
หรืออาจเหมารวบเบ็ดเสร็จในครั้งเดียว

• สรุปคือเมื่อถูกทำให้แค้น
แล้วไม่คิดแก้แค้น
เรียกว่าเป็นการใช้หนี้
ขอให้จำไว้ว่า
คุณอาจโกรธโดยไม่ตั้งใจ
แต่ไม่มีทางอภัยโดยบังเอิญ
อย่างน้อยต้องมีสิ่งสะกิดใจ
หรือมีใจเปี่ยมเมตตาเป็นทุนอยู่ก่อน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

• วิธีที่จะทำให้เขาสำนึกผิดมีสองทาง
ทางยุติธรรมแบบโลกๆ คือ
พึ่งศาล ผูกเวรกันต่อ
ทางยุติธรรมแบบธรรมะ คือ
พึ่งจิตคิดอภัย เลิกผูกเวรกัน

• การลงโทษมีหลายแบบ
ถ้าใจคุณอภัยจริงแล้วลงโทษ
ก็มักมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น
แต่หากยังคุมแค้นแล้วลงโทษ
ผลมักเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง

• เช่น ถ้าเป็นความผิดสถานเบา
จิตที่อภัยแล้ว จะพูดตำหนิด้วยน้ำเสียงเจือเมตตา
ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางสำนึกผิด
ส่วนจิตที่ยังคุมแค้น
จะด่าทอรุนแรงด้วยเสียงแข็งกระด้าง
ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในทางเข้าข้างตัวเอง อยากเอาชนะ

• หลายครั้ง ถ้าอยู่ในขณะจิตที่ ‘เปี่ยมเมตตา’
แค่ลงโทษด้วยรอยยิ้มและแววตาเห็นใจ
คุณก็ทำให้ใครหลายๆคนเข่าอ่อนด้วยใจสำนึก
ไม่อยากทำผิดอีก ทั้งที่ยังไม่ทันพูดสักคำ

• ทางลัดหน่อยคือ
คุณต้องคิดให้อภัยเขาบ่อยๆทุกวัน
กระทั่งเกิด ‘กระแสเมตตา’
รินจากจิตคุณมากชนิดท่วมท้น
ตรงนั้นอาจอาศัยฐานเมตตาเป็นที่ตั้ง
แล้วอธิษฐานขอให้เขาเปลี่ยนแปลง
มีจิตใจที่นุ่มนวลลง มีความคิดที่ถูกที่ชอบมากขึ้น

• ถ้าเห็นเค้าว่าเป็นจริงขึ้นมาบ้าง
ค่อย ‘หยอดคำพูดดีๆ’
ทำให้เขาเกิดความเข้าใจวันละเล็กวันละน้อย
อย่ายัดเยียดอะไรแบบพรวดเดียวยาวๆ
เขาไม่มีทางฟังหรอกครับ

คนเราถ้ายิ่งเจ็บแค้นเท่าไหร่
แล้วอภัยได้ แผ่เมตตาได้
ฤทธิ์ของเมตตาจะยิ่งสูง
และมีส่วน ‘ดลใจ’ ให้เขาเปลี่ยนความรู้สึกได้มาก

• แต่ต้องใช้กำลังใจยิ่งใหญ่จริงๆ
ถึงจะอภัยอย่างบริสุทธิ์หมดจด
แล้วเห็นผลลัพธ์เป็นปฏิกิริยาของอีกฝ่าย
ชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ผล
เพราะอภัยแบบแกล้งๆ ฝืนๆ
หรือยังเจือพยาบาทอาฆาต

• หากใครบอกว่า
ฝึกแผ่เมตตาแล้วไม่สำเร็จ เป็นของยาก
ก็ขอให้ลองตั้งใจ
..พูดดี
..พูดให้คนอื่นรื่นหู
..พูดให้คนอื่นเป็นสุข
..มีความสามัคคีกลมเกลียวกันมากๆ
เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี
ตั้งใจไว้เลยว่าคำที่ออกจากปากเรา
จะมีแต่กลิ่นหอมหวน นุ่มนวลเสนาะโสต
ไม่เหม็นเน่า ไม่แหลมระคายแก้วหูใคร

• ถึงวันหนึ่งหากสัมผัสรู้สึกได้ว่า
มี ‘กระแสความปรารถนาดีจริงใจ’
แผ่นำออกไปก่อนพูด
ก็ให้ทราบเถิดว่าอันนั้นแหละ
คุณเป็น ‘นักแผ่เมตตาผ่านคำพูด’ แล้ว

%d bloggers like this: